Conceptual Art

Posted In: Artistic Movement

คอนเซ็ปชวล อาร์ต
มโนทัศนศิลป์
Conceptual Art

conceptual-art

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-ปลาย 1970

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960-1970 นับได้ว่าเป็นช่วง 20 กว่าปีที่วงการศิลปะตะวันตกคึกคักเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และในช่วงนี้เองที่เกิดกระแสศิลปะที่สำคัญอีกกระแสหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) คือชื่อที่ได้จากข้อเขียนอันโด่งดัง พารากราฟส์ ออน คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Paragraphs on Conceptual Art) ของ โซล เลวิทท์ (Sol LeWitt) ศิลปินคนสำคัญในกลุ่ม มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ที่เขียนลงนิตยสาร อาร์ตฟอรั่ม เมื่อปี 1969

คอนเซ็ปชวล อาร์ต เป็นอีกกระแสศิลปะที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านศิลปะกระแสหลัก เป็นการตอบโต้แนวโน้มที่ศิลปะกลายเป็นสินค้าพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ ศิลปิน
คอนเซ็ปชวล อาร์ต จึงทำผลงานในแนวทางที่ตลาดศิลปะไม่ชอบ เป็นผลงานที่ขายไม่ได้หรือ
ในงานบางประเภทก็ยากที่จะซื้อขาย ลำบากที่จะสะสม เพราะ คอนเซ็ปชวล อาร์ต จะเน้นที่ความคิดมากกว่าตัววัตถุและความสวยงามของมัน

ในการทำงานของพวก คอนเซ็ปชวล อาร์ต จะมีการใช้วิธีการแบบสัญวิทยา (Semiotics, เซมิโอติคส์) เฟมินิสม์ (Feminism, ลัทธิสตรีนิยม) และวัฒนธรรมพ็อพ (ศิลปะและวัฒนธรรมแบบตลาดชาวบ้าน ซึ่งตรงกันข้ามกับศิลปะชั้นสูงอย่างวิจิตรศิลป์) มาใช้ในการสร้างงาน โดยมากจะไม่มีการใช้จารีตวิธีการทางศิลปะเดิมๆ เช่นในบางนิทรรศการ ศิลปินนำเสนอเอกสารข้อมูล บันทึกข้อมูลทางความคิดของศิลปิน ในบางงานมีการใช้คำ ใช้ภาษาหรือตัวหนังสือต่างๆ เช่น การสร้างคำหรือข้อความบนผนังแกลเลอรี

คอนเซ็ปชวล อาร์ต ได้กลายเป็นคำอธิบายถึงศิลปะที่มีรูปแบบที่ไม่ใช่ทั้งจิตรกรรมหรือประติมากรรม เช่น งานที่ใช้สื่อการแสดงอย่าง เพอร์ฟอร์แมนซ์ (Performance) หรือ วิดีโอ อาร์ต (Video Art) หรืองานอย่างพวก เอิร์ธ อาร์ต (Earth Art) ที่คนดูได้แต่ดูข้อมูลภาพร่างและภาพถ่ายที่ศิลปินบันทึกไว้ เพราะศิลปินแนวนี้มักจะทำผลงานขึ้นในป่าเขาและทะเล

หากจะสืบย้อนกลับไปที่ต้นตอของศิลปะแนวนี้ ก็คงหนีไม่พ้นคนสำคัญของกลุ่ม ดาด้า (Dada) นั่นคือ มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ซึ่งเน้นที่ความคิดของศิลปินที่เข้าไปจัดการกับข้าวของและวัสดุสำเร็จรูปต่างๆ และต่อมาก็เป็นกลุ่ม แอ็คชัน (Action) เช่นในงานของ อีฟ แคลง (Yves Klein) ที่เคยจัดให้ผู้หญิงเปลือยตัวเลอะสีแล้วมาเกลือกกลิ้งบนผืนผ้าใบและ ปีเอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) ที่เซ็นชื่อลงบนเรือนร่างของผู้หญิงเปลือยแล้วบอกว่า
นี่คือประติมากรรม ตัวอย่างเหล่านี้เป็นงานศิลปะที่ก่อให้เกิดคำถามว่า “งานศิลปะคืออะไร”

ลองมาดูผลงานแนว คอนเซ็ปชวล กันบ้าง ในงานของ โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris) คนดูเห็นกล่องและได้ยินเสียงดังมาจากภายในกล่อง เป็นเสียงที่ศิลปินได้บันทึกไว้ขณะที่สร้างกล่องใบนั้นขึ้นมา หรืองานที่เป็นกล่องอีกใบ ฝากล่องมีตัวหนังสือบอกไว้ว่า “แขวนกุญแจทิ้งไว้บนตะขอในตู้” (Leave Key on Hook inside Cabinet) และฝากล่องที่ว่านี้ก็ถูกล็อคไว้ด้วยกุญแจจริงๆ เสียด้วย

ผลงานของ โจเซ็พ โคสุธ (Joseph Kosuth) มักจะเกี่ยวกับภาษา เช่นผลงานชื่อ ไทเทิลด์ (อาร์ต แอส ไอเดีย แอส ไอเดีย), (ไอเดีย) Titled (Art as Idea as Idea), (idea)
เมื่อปี 1967 เป็นภาพขนาดเมตรคูณเมตร เป็นตัวอักษรสีขาวบนพื้นดำ แจกแจงที่มาของคำว่า
“ไอเดีย” สำหรับ โคสุธ แล้วความหมายของศิลปะที่ถูกแสดงออกในภาษานั้น สำคัญกว่าที่มันจะปรากฏออกมาเป็นภาพหรือเป็นรูปธรรม ในผลงานชิ้นนี้เขาได้แสดงให้เห็นถึงปรัชญาของ
คอนเซ็ปชวล อาร์ต ที่ว่า “ศิลปะที่เป็นความคิดที่เป็นความคิด” สำหรับศิลปินบางคน “ศิลปะที่เป็นความคิด” ก็ยังเป็นภาพยังเป็นรูปธรรม แต่ โคสุธ ทำให้ “ศิลปะที่เป็นความคิด” ให้เป็น
“ความคิด” จริงๆ เสียเลย การนำเสนอของเขามีทั้งปรากฏเป็นตัวอักษรนีออน แผ่นป้ายบิลบอร์ดและการลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์

อีกศิลปินที่ใช้ตัวหนังสือและตัวเลขในการนำเสนอความคิด ตั้งแต่ปี 1966 เป็นต้นมา ออง คาวารา (On Kawara) ทำงานชุด จิตรกรรมวันที่ (Date Paintings) ผ้าใบแบบที่ใช้สำหรับเขียนภาพ ถูกระบายพื้นหลังเป็นสีดำ ตัวอักษรและตัวเลขสีขาวที่บ่งบอกวันเดือนปี ทำขึ้นชิ้นละวัน วันเดือนปีที่ระบุในภาพคือเวลาจริงที่เขาทำงานขึ้น งานของ คาวารา ไม่ใช่เพียงแค่แสดงภาพว่าแต่ละวันมีความหมายว่าอย่างไรแต่เขาแสดงข้อมูลที่ย่นย่อเรื่องราวสารพัดสารเพของแต่ละวันให้เหลือแค่สัญลักษณ์

จอห์น บัลเดสซารี (John Baldessari) เป็นศิลปินสำคัญในแนวนี้อีกคน
บ่อยครั้งที่เขาทำงานด้วยภาพถ่ายเก่าที่หาได้จากภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เก่าๆ เขามักจะใช้ภาษาทางตัวอักษรและภาษาภาพในวัฒนธรรมพ็อพ เพื่อตั้งคำถามว่าคำจำกัดความของศิลปะคืออะไร ในปี 1966 ผ้าใบสำหรับเขียนภาพสีขาวว่างเปล่า มีเพียงตัวหนังสือที่ว่า “ทุกอย่างถูกชำระล้างออกไปจากจิตรกรรมชิ้นนี้ยกเว้นศิลปะ; ไม่มีความคิดอะไรในผลงานนี้” (Everything is purged from this painting but art; no idea have entered this work) บัลเดสซารี เคยเป็น
จิตรกร ก่อนที่จะหันหลังให้การเขียนภาพแบบเดิมๆ เขาถึงกับทำพิธีเผาภาพเขียนที่เขาทำขึ้นระหว่างปี 1953-1966 ทิ้งเสียหมด เพื่อทำงาน คอนเซ็ปชวล อาร์ต อย่างจริงจัง

ศิลปินดังในแนวนี้อีกคน แดเนียล เบอเร็น (Daniel Buren) ที่โด่งดังในสไตล์การใช้ลายเส้นแถบขาวดำ (คล้ายลายผ้า) จนกลายเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินคนนี้ไปเลย
ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเองมาก เพราะมันขัดกับแนวความคิดในจุดเริ่มต้นของ เบอเร็น ที่ต้องการใช้ลายแถบขาวดำที่ดูเป็นกลางๆ ธรรมดาๆ เพื่อปฏิเสธและเย้ยหยัน “รูปแบบเฉพาะตัว” ของศิลปะและศิลปิน เบอเร็น ใช้ลายแถบขาวดำนี้ในรูปแบบการนำเสนอต่างๆ เช่น ทำเป็นป้าย
บิลบอร์ด ทำเป็นธงติดเป็นริ้ว ทำเป็นแผ่นฉากต่อประกอบเข้ากับสถาปัตยกรรม

การที่ คอนเซ็ปชวล อาร์ต เน้นที่ความคิดของศิลปิน ทำให้กิจกรรมหรือความคิดต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นศิลปะ โดยไม่จะเป็นที่จะต้องแปรความคิดนั้น ออกมาเป็นภาพแบบจิตรกรรมหรือประติมากรรม งานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันจึงเปิดออกกว้างมาก มีการแข่งกันทำงานออกไอเดียกันแปลกๆ ใหม่ๆ จนชาวบ้านตามไม่ทัน ได้แต่สงสัยว่านี่ก็เป็นศิลปะได้ด้วยหรือ

การละทิ้งศิลปวัตถุ (ประติมากรรมและภาพเขียน) ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างศิลปิน คนดู และนักวิจารณ์ นักวิจารณ์อย่าง โรเบิร์ต ฮิวส์ (Robert Hughes นักเขียนจากนิตยสาร ไทม์) และ ฮิลตัน คราเมอร์ (Hilton Kramer นักเขียนจากหนังสือ นิวยอร์ค ไทม์) กล่าวว่าเมื่อพวกเขาดูงาน คอนเซ็ปชวล อาร์ต พวกเขาเห็นจักรพรรดิที่ปราศจากเสื้อผ้าอาภรณ์

แม้ว่าศิลปะตะวันตกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 จะมีการฟื้นฟูจิตรกรรมและประติมากรรม ที่ดูเหมือนว่าจะต่างไปจาก คอนเซ็ปชวล อาร์ต แต่แท้ที่จริงแล้วมีการซึมซับกันมา ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง ทั้งในเรื่องการเมืองและภาพลักษณ์จากประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมพ็อพ คำว่า นีโอ-คอนเซ็ปชวลลิสต์ (Neo-Conceptualist, คอนเซ็ปชวลใหม่) มักจะถูกใช้เพื่อโยงเข้ากับงานแนว อินสตอลเลชัน (Installation) และงานที่ไม่เป็นแบบจารีตเก่า

ศิลปิน: มารินา อบราโมวิค (Marina Abramovic, 1946-), จีโอวานนี อันเซลโม (Giovanni Anselmo, 1934-), แอนท์ ฟาร์ม (Ant Farm), อาร์ต แอนด์ แลงเกวจ (Art & Language), จอห์น บัลเดสซารี (John Baldessari, 1931-), โรเบิร์ต แบร์รี (Robert Barry), เอียน แบ็กซ์เตอร์ (Lain Baxter), โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys, 1921-1986), เมล บอชเนอร์ (Mel Bochner), แดเนียล เบอเร็น (Daniel Buren, 1938-), วิคเตอร์ เบอร์กิน (Victor Burgin), เจมส์ ลี ไบอารส์ (James Lee Byars, 1932-1997), จอห์น เคจ (John Cage), หลุยส์ คัมนิทเซอร์ (Luis Camnitzer), เจมส์ โคลแมน (James Coleman), ฮาน ดาร์บาเวน (Hanne Darbaven, 1941-), แจน ดิบเบทส์ (Jan Dibbets, 1941-), เทอร์รี ฟอกซ์ (Terry Fox), แฮมิช ฟูลตัน (Hamish Fulton, 1946-), ฮันส์ แฮค (Hans Haacke), โฮเวิร์ด ฟลายด์ (Howard Fried), เจเนอรัล ไอเดีย (General Idea), แดน เกรแฮม (Dan Graham, 1942-), ดักลาส ฮูเบลอร์ (Douglas Heubler), เดวิด ไอร์แลนด์ (David Ireland), อลัน คาโพรว (Allan Kaprow, 1927-), ออง คาวารา (On Kawara, 1933-), พอล คอส (Paul Kos), โจเซ็พ โคสุธ (Joseph Kosuth, 1945-), ริชาร์ด ครีสเช (Richard Kriesche), ซูซาน ลาซี่ (Suzanne Lacy), แบร์รี่ เลอ วา (Barry Le Va, 1941-), เลส เลอวีน (Les Levine), ริชาร์ด ลอง (Richard Long, 1945-), ทอม มาริโอนี (Tom Marioni), จิม เมลเชิร์ท (Jim Melchert), อันโตนิโอ มิรัลดา (Antonio Miralda), โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris), อันโตนิโอ มุนตาแดส (Antonio Muntadas), บรูซ นาว์แมน (Bruce Nauman, 1941-), มอร์แกน โอฮาร่า (Morgan O?Hara), เดนนิส โอพเพนไฮม์ (Dennis Oppenheim), ไมค์ พารร์ (Mike Parr), เอเดรียน ไพเพอร์ (Adrian Piper), เดียร์เตอร์ รอธ (Dieter Roth, 1930-1998), อเล็น รุพเพอรส์เบิร์ก (Allen Ruppersberg), บอนนี เชิร์ก (Bonnie Sherk), ไมเคิล สโนว์ (Michael Snow, 1929-), อิมเมนท์ ทิลเลอรส์ (Imants Tillers), ริชาร์ด ทัทเทิล (Richard Tuttle), เบอร์นาร์ เวเน็ท (Bernar Venet, 1941-), ลอว์เรนซ์ ไวเนอร์ (Lawrence Weiner, 1940-), ทาร์ซูเอ ยามาโนโตะ (Tarsua Yamanoto)

Computer Art
Cubism