Op Art

Posted In: Artistic Movement

อ็อพ อาร์ต
Op Art

op-art1

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-กลาง 1960

จิตรกรรมแบบ อ็อพ อาร์ต (Op Art) จะเด่นมากในการสร้างภาพนามธรรมที่เน้นรูปทรงเรขาคณิต ที่มีขอบและเส้นรอบนอกที่คมชัด ทิศทางของรูปทรงและเส้นรอบนอกมักจะหักเห ยักเยื้อง ทำให้ตาของเราเห็นว่ามันเคลื่อนไหววูบวาบ โดยเฉพาะเมื่อเราจ้องมองมันนิ่งๆ สักพัก แล้วเหลือบสายตาให้เคลื่อนไปจากเดิมเล็กน้อย รูปทรงและเส้นที่ศิลปินวางไว้อย่างเหมาะเจาะจะทำปฏิกริยากับการมอง ทำให้เห็นว่ามันเคลื่อนไหววูบวาบนิดๆ หรือในบางกรณีรูปทรงที่จิตรกรสร้างขึ้นจะดูนูนสูงขึ้น เว้าต่ำลงหรือปูดออกอย่างสมจริง ทั้งๆ ที่มันเป็นภาพแบนๆ เท่านั้น

ลักษณะเด่นอีกสองประการก็คือ ภาพเขียนเหล่านี้มักจะดูเนี้ยบเป็นระเบียบ ราวกับถูกผลิตด้วยเครื่องจักร ไม่ใช่งานฝีมือมนุษย์ แสดงถึงความสมัยใหม่ ทำให้นึกไปถึงอะไรที่เป็นอุตสาหกรรม เป็นบุคลิกของเมืองใหญ่

จุดสำคัญที่สุดของภาพแบบนี้คือ เป็นภาพที่มีผลต่อการมอง ทำให้เกิดการลวงตา
ชื่อ อ็อพ อาร์ต (เป็นที่นิยมในยุโรปและสหรัฐฯ) เป็นชื่อที่ย่อมาจากคำว่า อ็อพติเคิล อาร์ต (optical art) บางทีก็มีการเรียกว่า เรทินัล อาร์ต (retinal art) หรือ เพอร์เซ็ปชวล แอ็บสแตรคชัน (perceptual abstraction) หรือศิลปะที่เกี่ยวกับสายตาและการมองนั่นเอง

ความเป็นมาของชื่อ อ็อพ อาร์ต เกิดขึ้นในปี 1964 จาก จอร์จ ริคคีย์ (George Rickey) ประติมากรชาวอเมริกัน ที่ออกไอเดียให้ชื่อนี้ขึ้นมาขณะที่พูดคุยกับ ปีเตอร์ เซลซ์ (Peter Selz) และ วิลเลียม ซีท์ซ (William Seitz) คิวเรเตอร์ (ภัณฑารักษ์) ของ เดอะ มิวเซียม ออฟ โมเดิร์น อาร์ต ในนิวยอร์ค

อ็อพ อาร์ต มีรากมาจากทฤษฎีการสอนศิลปะของ โจเซ็พ อัลเบอร์ (Josef Alber) ศิลปินชื่อดังของโลก ที่เคยสอนอยู่ในโรงเรียนศิลปะ บาว์เฮ้าส์ (the Bauhaus school of art) ในเยอรมนีระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 อัลเบอร์ สอนเกี่ยวกับทฤษฎีสีและการทดลองเกี่ยวกับภาพและการมอง

แม้ อัลเบอร์ จะไม่ได้ทำงานในลักษณะลวงสายตาอย่างวูบวาบแบบ อ็อพ อาร์ต โดยตรง แต่เขาเขียนภาพนามธรรมที่ใช้สีไม่กี่สี รูปทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย แต่ให้ผลเป็นระยะเป็นมิติที่ลวงตาแบบนิ่งๆ มาตลอดชีวิต

นอกจากนี้ลักษณะเด่นของจิตรกรรมโดย บัลล่า (Balla) ศิลปินชาวอิตาลีในกลุ่ม ฟิวเจอริสม์ (Futurism) เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1920 ก็มีอิทธิพลต่อ อ็อพ อาร์ต ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ที่ ฟิวเจอริสม์ ชอบภาพที่แสดงพลังความเคลื่อนไหว สีสันที่สดฉูดฉาดแสดงพลัง และทัศนคติที่เห็นดีเห็นงามไปกับเครื่องจักรกลไกที่แสดงความเจริญทันสมัย

ศิลปินที่ทำงานในแนว อ็อพ อาร์ต อย่างจริงจังและมีชื่อเสียงในแนวทางนี้มากคือ บริดเจ็ท ไรลีย์ (Bridget Riley) วิคเตอร์ วาซารีลี (Victor Vasarely) และ ลาร์รี พูนส์ (Larry Poons)

กระแสความเคลื่อนไหวที่สร้างชื่อกระฉ่อนให้แก่ อ็อพ อาร์ต คือ นิทรรศการ เดอะ เรสปอนซีฟ อาย (The Responsive Eye) จัดโดย เดอะ มิวเซียม ออฟ โมเดิร์น อาร์ต ในนิวยอร์ค เมื่อปี 1965

วงจรชีวิตของศิลปะกระแสนี้มีอายุค่อนข้างสั้น เมื่อ อ็อพ อาร์ต ถูกนำไปใช้ในการทำลวดลายผ้าสิ่งทอและการออกแบบตกแต่งภายใน ความนิยมในแวดวงศิลปะก็เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว คนทั่วไปอาจจะไม่รู้จัก อ็อพ อาร์ต เท่าไรนัก แต่งานดีไซน์ต่างๆ ที่ใช้ลวดลายแบบ อ็อพ อาร์ต กลับได้รับความนิยมมาก

ศิลปิน: บริดเจ็ท ไรลีย์ (Bridget Riley), วิคเตอร์ วาซารีลี (Victor Vasarely), ลาร์รี พูนส์ (Larry Poons)

Online Art
Performance Art