Arte Povera

Posted In: Artistic Movement

อาร์เต้ โพเวร่า
Arte Povera

arte-povera

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-ปลาย 1970

ในราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึง 1970 ที่ประเทศอิตาลีเกิดกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ คิดค้นหาวิธีการทำงานศิลปะที่แปลกใหม่ เป็นที่รู้จักกันในชื่อภาษาอิตาลีว่า อาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า poor art ซึ่งไม่ได้เพียงแต่หมายถึง “ความจน” ในเรื่องเงินทอง หรือหมายถึงการที่ศิลปินไม่ยอมควักกระเป๋าลงทุนทำงานเพราะไม่มีเงิน แต่เป็นเพราะทัศนคติและวิธีคิดที่จะนำเอาวัสดุที่ไม่มีราคาค่างวด หรือของที่ไม่ใช่วัสดุตามจารีตของการทำงานศิลปะ มาทำเป็นงานศิลปะ

ของที่พวกเขาหยิบจับมาใช้ล้วนแล้วแต่เป็นของค่อนข้างธรรมดา ซึ่งสามารถพบเห็นและใช้ในชีวิตปกติประจำวัน เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ ดิน ก้อนหิน ผ้าขี้ริ้ว ถ่านหิน ล้วนแล้วแต่เป็นของที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับประติมากรรมที่ใช้วัสดุแนวประเพณีอย่างหินอ่อนและสำริด วัสดุหลายอย่างที่กล่าวมานี้ นอกจากจะไม่ได้เป็นของหรูหรามีค่ามากแล้ว ยังมีอายุการใช้งานสั้นไม่คงทนถาวรอีกด้วย

เอาเข้าจริงๆ แล้ว จุดยืนวิธีคิดวิธีทำงานของ อาร์เต้ โพเวร่า จะไม่ต่างไปจาก โพรเซส อาร์ต (Process Art) เท่าไรนัก เพราะ โพรเซส อาร์ต ก็นิยมเลือกวัสดุที่ไม่คงทน ปล่อยให้ผลงานผันแปรไปตามธรรมชาติและกาลเวลา

ศิลปินคนดังในกลุ่มนี้มีอาทิ ไมเคิลแองเจโล พิสโตเล็ทโต้ (Michelangelo Pistoletto) เขาทำทั้งประติมากรรม จิตรกรรม และ เพอร์ฟอร์แมนซ์ (Performance) ผลงานที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปก็คือ วีนัส ออฟ เดอะ แร็กส์ ในปี 1967 พิสโตเล็ทโต้ จัดให้หุ่นปูนรูปวีนัสยืนหันหลังให้คนดู ท่ามกลางกองผ้าขี้ริ้วหลากสี ดูมีนัยของการพยายามเข้าไปจัดการกับความงามแบบแนวประเพณี ด้วยวิธีและทัศนคติของสังคมสมัยใหม่ ศิลปินใช้วิธีการจัดวางของที่ตรงกันข้ามกัน อย่างเช่น ผ้าขี้ริ้วไร้ค่ากับศิลปะในระดับประวัติศาสตร์ศิลป์

ดาวเด่นอีกคนในกลุ่มนี้คือ มาริโอ เมิร์ซ (Mario Merz) วัสดุที่เขาชอบใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ กระจกใสและไฟนีออนดัดเป็นตัวเลข ในผลงานชื่อ ฟิโบแนคซิ อิคลู (Fibonacci Igloo) เมิร์ซ จัดวางงาน 3 มิติที่ดูคล้าย “อิคลู” บ้านทรงโดมเตี้ยทำจากก้อนน้ำแข็งของพวกเอสกิโม แต่อิคลูหลังนี้ทำด้วยก้อนผ้าที่เรียงตัวต่อกันขึ้นมา ผลงานชิ้นนี้มีความซับซ้อนมาก มันเกี่ยวกับระบบทางคณิตศาสตร์ที่คิดค้นโดยนักคณิตศาสตร์ในยุคกลางของยุโรปนามว่า ลีโอนาโด ดา พิซา (Leonardo da Pisa) ผู้มีชื่อเล่นว่า ฟิโบแนคซิ ระบบคณิตศาสตร์นี้เกิดขึ้นจากการพยายามจะนับการออกลูกของกระต่าย

ระบบที่ว่านี้จะเกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องของเลขที่เพิ่มขึ้นโดยการบวกตัวเลข 2 ตัวที่นำหน้า เช่น 1 2 3 5 8 13 และเพิ่มไปเรื่อยๆ เมิร์ซ ใช้ระบบตัวเลขนี้สร้างอิคลู เขาวางก้อนผ้าก้อนแรกที่ยอดบนสุด แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 2 3 5 8 แล้วนับไปเรื่อยๆ เป็นระบบที่พบเห็นได้ในการก่อสร้างโบสถ์ทรงโดม เป็นการแสดงกฏธรรมชาติของการออกแบบ แต่แสดงสัจจะเชิงอภิปรัชญา

ลูเซียโน ฟาโบร (Luciano Fabro) ทำงานชื่อ อิตาลี ในปี 1968 เป็นแผ่นโลหะรูปแผนที่ประเทศอิตาลีหัวกลับ ฟาโบร เอามันมาทำเสียจนดูเหมือนภาพนามธรรม ชวนให้คนดูคิดว่าเป็นอะไรคล้ายอะไร ฟาโบร ทำแผนที่ขึ้นหลายอันด้วยสารพัดวัตถุ ทั้งเหล็กทองแดง ไม้อัด และสำริด แต่ละอันก็มีลักษณะแตกต่างไปตามธรรมชาติของวัสดุ เขานิยมทดลองวัสดุต่างๆ ที่ศิลปะประเพณีไม่เคยใช้ เป็นการแหวกจากความหมายทางศิลปะที่ตายตัว ไปสู่การเปิดกว้าง ซึ่งเป็นลักษณะของวัฒนธรรมสมัยใหม่

นอกจากนี้ยังมี แจนนิส คูเนลลิส (Jannis Kounellis) ที่ชอบใช้วัสดุจำพวกแผ่นโลหะ ลวด ตะเกียง ไฟ ไม้ซุง ถ่าน และหิน ในงานบางชิ้นมีการใช้สิ่งมีชีวิตเช่น นกแก้ว และผลงานที่ดังมากคือ การทำคอกม้าขึ้นในแกลเลอรีกลางกรุงโรม อีกคนคือ กิลเบอร์โต โซริโอ (Gilberto Zorio) ศิลปินคนนี้มักจะใช้วัสดุอุตสาหกรรมและไฟนีออน บางทีดูคล้ายงาน มินิมอลลิสม์ (Minimalism) แต่ผลงานของ โซริโอ จะมีการใช้ตัวหนังสือและไม่แห้งแล้งไร้ความอบอุ่นแบบ มินิมอลลิสม์

ใครที่คาดหวังจะได้ดูงานคลาสสิคอิตาเลียน เมื่อได้มาพบเห็นผลงานของ อาร์เต้ โพเวร่า คงจะผิดหวังอย่างแรง และคงเกิดความคิดไปว่า ศิลปะของอิตาลีกำลังถึงยุคเสื่อม โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นรูปวีนัสกับผ้าขี้ริ้ว แต่นี่คือสัจธรรมที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลง เมื่อสังคมเปลี่ยน ศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมก็ต้องเปลี่ยนตาม ศิลปินหัวก้าวหน้าของชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่และแข็งแรง จะมีภาระทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่หนักอึ้ง เพราะมรดกที่ยิ่งใหญ่และความคาดหวังที่สูงส่งที่คนทั้งโลกจับตามองอยู่นั่นเอง

ศิลปิน: จีโอวานนี อันเซลโม (Giovanni Anselmo, 1934-), อาลิเกียโร โบเอ็ตตี้ (Alighiero Boetti, 1940-1994), ลูเซียโน เฟโบร (Luciano Fabro, 1936-), แจนนิส คูเนลลิส (Jannis Kounellis, 1936-), มาริโอ เมิร์ซ (Mario Merz, 1925-), กุยลิโอ เปาลินี (Giulio Paolini, 1940-), จุยเซพเป เปโนเน (Giuseppe Penone, 1947-), ไมเคิลแองเจโล่ ปิสโตเล็ทโต้ (Michelangelo Pistoletto, 1933-), กิลแบร์โต โซริโอ (Gilberto Zorio, 1944-)

Art Nouveau
Body Art