Degenerate Art

Posted In: Artistic Movement

ดีเจเนอเรท อาร์ต
Degenerate Art

degenerate-art

ศิลปะในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความแปรผันไปตามสถานการณ์การเมืองภายในและระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ในกรณีที่ประเทศเยอรมนี อดอร์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เริ่มมีอำนาจในปี 1933 ฮิตเลอร์ สั่งปิดสถาบันศิลปะหัวก้าวหน้าอย่าง “บาวเฮาส์” (Bauhaus) ศิลปินที่ทำงานในแนวสมัยใหม่ต่างอพยพออกนอกประเทศ

หนึ่งในกิจกรรมที่ ฮิตเลอร์ เข้าจัดการกับศิลปะสมัยใหม่อย่างเป็นทางการคือ การประนามศิลปะเหล่านั้นว่าเป็น ดีเจเนอเรท อาร์ต (Degenerate art แปลเป็นไทยได้ว่า “ศิลปะที่เสื่อมทราม”) ศิลปะที่เข้าข่ายนี้ มีตั้งแต่ศิลปะลัทธิ อิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ไปจนถึง เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) ซึ่งศิลปินพวกนี้มักจะเป็นพวกรักอิสระ ต่อต้านกระฎุมพีและเป็นพวกหัวขบถ

กลุ่มศิลปินที่สร้างงานอย่างก้าวร้าวรุนแรงที่สุดคือ กลุ่ม ดี บรึกเค่ (Die Brucke/The Bridge) ในครั้งที่ รัชกาลที่ 5 ทรงทอดพระเนตรงานจิตรกรรมสมัยใหม่ในแนวเดียวกับกลุ่มนี้เมื่อครั้งเสด็จประพาสเยอรมนี ก็ทรงไม่โปรดและวิจารณ์อย่างรุนแรง

ในปี 1935 โจเซ็พ กอบเบลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานโฆษณาชวนเชื่อของนาซี ได้สั่งให้ศิลปินผลิตงานที่มี “สำนึกอย่างแรงกล้า” ไม่ให้ใช้แนวคิดเชิงศิลปะ แต่ให้ใช้แนวคิดทางการเมือง ศิลปะในแนวที่เห็นเป็นภาพตัวแทนที่แสดงให้เห็นเป็นภาพคนหรือวัตถุต่างๆอย่างเหมือนจริงจึงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะสามารถสร้างภาพยอดคนชาวอารยันทั้งชายหญิงได้อย่างดีเยี่ยม และมักจะเสนอภาพประวัติศาสตร์ “แผ่นดินแม่” ของเยอรมนี ภาพเขียน “ท่านผู้นำ” ฮิตเลอร์ ถูกเขียนออกมาในแนวย้อนยุคแบบ เรอเนอซองส์ (Renaissance) หรือแบบ บาโรค (Baroque)

ในปี 1937 นาซีจัดนิทรรศการครั้งสำคัญสองงานคือ เดอะ เกรท เยอรมัน อาร์ต (The Great German Art) ที่ออกเป็นแนว ศิลปะนาซี (Nazi Art) เป็นแนวงานที่รัฐบาลนาซีสนับสนุน ส่วนอีกงานคือ ดีเจเนอเรท อาร์ต เป็นงานที่นำเอาศิลปะสมัยใหม่ที่ทางการริบไปจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆในประเทศ (แล้วเอางานที่ทางการรับรองและอนุมัติกว่า 2 หมื่นชิ้นมาแทนที่ที่ริบไป) มาจัดขึ้นเพื่อประนามว่าเป็นศิลปะที่เลวสร้างความเสื่อมทรามให้แก่สังคม โดยได้จัดสัญจรไปหลายเมือง และเป็นนิทรรศการที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี

ส่วนในกรณีที่อิตาลี 3-4 ปี ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914?1918) กลุ่มศิลปินอิตาลีกลุ่มหนึ่งชื่นชอบและเห็นด้วยกับผลพวงความสำเร็จทางเทคโนโลยีและการใช้เครื่องจักรกล

ประเทศอิตาลีเปิดรับเทคโนโลยีช้ากว่าที่อื่น จู่ๆกระแส “อุตสาหกรรมนิยม” ก็บุกอิตาลี ทำให้ปัญญาชนชนชั้นกลางที่นั่นตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง ฟิลิปโป ทอมมาโซ มาริเนทโต (Filippo Tommaso Marinetto, 1876?1944) เป็นนักเขียนที่เรียกร้องหา “วัฒนธรรมใหม่” ที่คู่ควรกับ “อุตสาหกรรมใหม่” ที่เกิดขึ้น วัฒนธรรมใหม่ที่ว่านี้จะต้องหลุดไปจากกรอบวงล้อเก่าๆของประวัติศาสตร์ศิลปะอิตาลี เช่น ของเก่าจำพวก โบราณวัตถุของโรมัน เขาเห็นว่าบรรดาพิพิธภัณฑ์กลายเป็นที่ที่เก็บของที่ตายแล้ว รถยนต์ รถไฟและเครื่องบินคือ สัญลักษณ์ของอนาคตและเป็น “ความงามแห่งความเร็ว”

กลุ่ม ฟิวเจอริสต์ (Futurist) ประกาศในถ้อยแถลงของพวกเขา “เดอะ แมนีเฟสโต้ ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์ริสต์ เพนติ้ง” (The Manifesto of Futurist Painting) ในปี 1910 ว่า “พิพิธภัณฑ์คือสุสาน”

พวก ฟิวเจอริสต์ ชอบความรุนแรงความมีพลังและอยากให้เกิดสงคราม กลุ่มนี้ส่งอิทธิพลไปให้พวกหัวก้าวหน้าอื่นๆ (หัวก้าวหน้า = avant-garde) รวมทั้งพวกรัสเชียน อาวองท์-การ์ด

เมื่อเอ่ยถึง ศิลปะแบบฟาสซิสต์ (Fascist Art) จะเป็นที่เข้าใจกันว่าคือ ศิลปะแบบทางการที่สนับสนุนโดยจอมเผด็จการขวาจัดที่ชื่อ เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ซึ่งขึ้นครองอำนาจในอิตาลีตั้งแต่ปี 1922 มุสโสลินี สนับสนุนแนวนิยมหัวก้าวหน้า ในขณะที่ โจเซ็พ สตาลิน (Josef Stalin) ผู้นำเผด็จการโซเวียตปฏิเสธงานเหล่านั้น เพราะมันลดทอนจนง่ายเกินไป และ ฮิตเลอร์ ก็เป็นหัวเก่าอนุรักษ์นิยมมากไม่ชอบงานแบบสมัยใหม่

สำหรับ มุสโสลินี แล้ว ศิลปะสมัยใหม่คือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมใหม่ที่ควบคู่ไปกับการเมืองแบบใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลัทธิฟาสซิสม์ (Fascism) ได้ให้สัญญาและหาเสียงเอาไว้กับประชาชน มุสโสลินี มีคุณสมบัติพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับพวก ฟิวเจอริสต์ มาก เช่น ความที่เป็นพวกชอบทะเลาะ ก้าวร้าว ต่อต้านแนวคิดสตรีนิยม บูชาเทคโนโลยี และวิธีการโฆษณาชวนเชื่อจึงทำให้กลุ่ม ฟิวเจอริสต์ (Futurist, Futurism) กับ “ท่านผู้นำ” มุสโสลินี เป็นพันธมิตรกันได้

จากแผนของ มุสโสลินี ในปี 1942 เขาได้จัดสร้าง “หออารยธรรมแห่งอิตาลี” (The Palace of Italian Civilization) ใกล้กรุงโรม และ “นิทรรศการของการปฏิวัติของฟาสซิสต์” (Mostra della Rivoluzione Fascista) เพื่อฉลอง 10 ปีการครองอำนาจของ มุสโสลินี และฟาสซิสต์ ตึกในแนว อาร์ต เดคโค (Art Deco) ในโรมได้รับการตกแต่งด้วยภาพเขียนฝาผนังและประติมากรรมที่ดูทันสมัยโดยศิลปิน ฟิวเจอริสต์ เป็นผลงานที่พรรณนาถึงความรุ่งเรืองของฟาสซิสต์เป็นสำคัญ

ส่วนในโซเวียตนั้น ศิลปะสมัยใหม่ที่เกิดจากการคิดค้นของศิลปินหัวก้าวหน้ารัสเซีย ในแนว คอนสตรัคติวิสม์ (Constructivism) ที่เด่นมากในเรื่องงานแนวนามธรรมแบบเรขาคณิต ได้รับการยอมรับจากพรรคบอลเชวิค (Bolshevik) ที่ทำการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917

แต่ต่อมาในปี 1925 พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มต่อต้านศิลปะแบบนามธรรม จนกระทั่งในปี 1934 งานโฆษณาชวนเชื่อแบบ โซเชียล เรียลลิสม์ (Social Realism) ก็ได้กลายเป็นงานศิลปะแบบทางการแต่เพียงหนึ่งเดียวของสหภาพโซเวียต

ข้อที่น่าสังเกตคือความคล้ายคลึงของรัฐบาลไทย เยอรมนี และอิตาลีในช่วงนี้ ที่มีการจัดนิทรรศการที่เชิดชูศิลปะแบบทางการที่เป็นระดับแห่งชาติ นิยมสถาปัตยกรรม อาร์ต
เดคโค เหมือนกัน รูปแบบและแนวเนื้อหาที่คล้ายกันอีกด้วย คงจะไม่ใช่เพียงเพราะมีความเป็น “ลัทธิชาตินิยม-ทหาร-ผู้นำนิยม” เหมือนกันเท่านั้น แต่เพราะรูปแบบศิลปะเหล่านั้นเป็นแนวกระแสหลักที่กำลังนิยมกันอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง

Dada
Earth Art