Action Actionism

Posted In: Artistic Movement

แอ็คชัน/แอ็คชันนิสม์
Action/Actionism

 action-actionism

ระหว่าง: กลางคริสต์ทศวรรษ 1950-กลาง 1970
การที่ศิลปินทางด้านทัศนศิลป์บางคนหันมาสนใจที่จะทำการ “แสดง” และมีความสนใจเกี่ยวกับ “กระบวนการทางศิลปะ” มีที่มาจากกระแสศิลปะกลุ่ม แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) (งานจิตรกรรมที่เกิดในอเมริกายุคคริสต์ศตวรรษ 1950 ใช้การ “กระทำ” ทำให้เกิดภาพแทนที่จะเขียนหรือระบาย ในบางกรณีของบางศิลปิน มีการเรียกภาพเขียนแนวนี้ว่า แอ็คชัน เพ้นติ้ง) และกระแสศิลปะแนวใกล้เคียงกัน ที่ใช้ชื่อว่า Art Informel ซึ่งเกิดขึ้นในยุโรป

คำจำกัดความที่ว่างานจิตรกรรมเป็นดั่งการบันทึกของศิลปิน ได้ให้แรงบันดาลใจแก่ศิลปินที่สนใจทำการ “แสดง” ในงานศิลปะของตนเอง แทนที่จะใช้พู่กันเขียนภาพหรือใช้สิ่วแกะรูปแบบแต่ก่อน

แฮ็พเพ็นนิง (Happening) ฟลัคซุส (Fluxus) และ แอ็คชัน (Action) คือ ความเคลื่อนไหวในวงการทัศนศิลป์ที่สนใจในการ “แสดง” และ “กระบวนการ” ในศิลปะแบบทัศนศิลป์ และยังเป็นต้นแบบสำหรับ เพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต (Performance Art) ซึ่งคนยุคปัจจุบันจะเคยชินกับมันมากกว่า

ศิลปะที่มีการแสดงแบบ แฮ็พเพ็นนิง จะมีการกำกับและการเตรียมการอย่างแน่นอน มีการเปิดกว้างให้คนดูตีความ ส่วนกระแสศิลปะในนามของ ฟลัคซุส จะมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การเขียนและนำเสนอบทกวีที่เปิดกว้างแบบปลายเปิด คือเปิดกว้างให้ตีความ กิจกรรมของพวกเขาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสนใจในปรัชญา เซ็น และกลุ่มศิลปิน ดาด้า (Dada)

งานแบบ แอ็คชัน คือ งานแสดงสดอีกแบบที่ทำกันในแกลเลอรีหรือตามท้องถนน ศิลปินในกลุ่ม แอ็คชัน (พวกเขาไม่ได้รวมตัวกันอย่างจริงจัง) ที่ดังๆ ระดับโลกคือ อีฟ แคลง (Yves Klein) ชาวฝรั่งเศส ปีเอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) ชาวอิตาลี และ โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys) ชาวเยอรมนี กลุ่มนี้เริ่มเคลื่อนไหวกันมาตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ถึงกลาง 1970

อีฟ แคลง เริ่มทำจิตรกรรมด้วยพู่กันที่มีชีวิต โดยการใช้ร่างกายผู้หญิงเปลือยที่เปรอะเปื้อนสีประทับร่างและสีลงบนผืนผ้าใบ เปรียบได้กับการเขียนภาพด้วยพู่กันจุ่มสีแล้วระบายลงบนผืนผ้าใบ ผลงานของเขากลายเป็นอะไรบางอย่างที่อยู่ระหว่าง “ภาพบุคคล” กับ “ภาพนามธรรม”

แคลง เรียกทำการภาพแบบนั้นว่า Anthropometries ซึ่งแปลได้ว่า การศึกษาสัดส่วนของร่างกายมนุษย์ แคลง เรียกสีฟ้าที่เขาใช้บ่อยๆ ว่า อินเตอร์เนชันแนล แคลง บลู (International Klein Blue) ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาไป บางครั้งเขาก็ได้ใช้เปลวไฟในการสร้างงานจิตรกรรมแทนสีจากหลอด แคลง พยายามค้นหาวิธีการทำศิลปะแบบใหม่ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปฏิกริยาโต้ตอบกับประเพณีการเขียนภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ

ปีเอโร แมนโซนี ทำศิลปะโดยการสร้างวัตถุต่างๆ ที่แทบจะไม่เคยเป็นศิลปะมาก่อน เขามีความคิดและวิธีการในแนวเดียวกับ ดาด้า ที่ทำนำมาก่อนแล้วในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แมนโซนี ทำการโจมตีความเสแสร้งและการแบ่งลำดับชั้นสูงต่ำในวงการศิลปะ ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าใคร ไม่ว่าอะไรก็สามารถเป็นงานศิลปะได้

แมนโซนี เอาข้าวของสารพัดมาใส่ลงในบรรจุภัณฑ์ บ้างก็เอาใส่กระป๋องแล้วผนึกปิดแบบอาหารกระป๋อง เสร็จแล้วก็ทำการเซ็นชื่อแบบที่ศิลปินเซ็นลงบนงานศิลปะของตนเอง หนึ่งในความอื้อฉาวก็คือ งานที่เป็นกระป๋องบรรจุอุจจาระของศิลปินแล้วผนึกฝาแน่น บ้างก็สร้างศิลปะด้วยการเป่าลูกโป่งแล้วเซ็นชื่อ กลายเป็นงานศิลปะ ลมหายใจของศิลปิน หรือในบางครั้ง แมนโซนี สร้างประติมากรรมที่มีชีวิต (living sculpture) ด้วยการเซ็นชื่อลงบนร่างกายของผู้หญิงเปลือย เป็นการพยายามนำชีวิตจริงเข้าสู่ศิลปะ (หรือนำศิลปะเข้าสู่ชีวิตจริง)

ในต้นคริสต์คริสต์ทศวรรษ 1970 โจเซ็พ บอยส์ ได้ก่อตั้ง เดอะ ฟรี ยูนิเวอร์ซิตี้ (The Free University) สร้างเครือข่ายสื่อหลากหลายและผู้คนจากหลายสาขาอาชีพ และเรียกมันว่า ประติมากรรมสังคม (Social Sculpture) บอยส์ เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมากในการทำงานศิลปะแนวกิจกรรมและการแสดง โดยมีวัตถุและ ศิลปะจัดวาง (installation) ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน

ศิลปินในกลุ่มนี้หลายคนมีบทบาทและต้องการที่จะมีส่วนร่วมโดยตรงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกวงการศิลปะ ซึ่งได้ทำให้คนทั่วไปติดภาพว่า แอ็คชัน จะต้องทำงานในลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะศิลปินอีกกลุ่มที่เคลื่อนไหวในนามของ Aktionismus ในภาษาเยอรมัน หรือในภาษาอังกฤษคือ แอ็คชันนิสม์ (Actionism) เป็นศิลปินในเวียนนา ออสเตรีย ที่ทำงานแนว แอ็คชัน มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960

ศิลปินชาวเวียนนากลุ่มนี้มีอาทิ กุนเทอร์ บรุส (Gunter Brus) อ็อตโต มุล (Otto Muhl) เฮอร์มานน์ นิทช์ (Hermann Nitsch) อัลฟอนส์ ชิลลิง (Alfons Schilling) และ รูดอล์ฟ ชวาซ์คอจ์เลอร์ (Rudolf Schwarzkogler) พวกเขานำเอาแนวคิดแบบ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและกามารมณ์มาใช้ในการแสดงเชิงพิธีกรรม โดยใช้วัสดุจากสิ่งมีชีวิตสดๆ เช่น เลือด อสุจิ และเนื้อสัตว์

การแสดงครั้งหนึ่งของ ชิลลิง ที่เขาทำขึ้นในกลุ่มคนดูเล็กๆ ในเวียนนาเมื่อปี 1963 เขาเปิดการแสดงด้วยการโชว์แกะที่ถูกโกนขนมีเลือดท่วม ผ้าขาวที่วางบนพื้นห้องถูกปกคลุมด้วยเครื่องในสัตว์ เลือดที่ราดลงบนตัวแกะที่กำลังดีดดิ้นทำให้เลือดกระเด็นไปทั่วแกลเลอรี หลังจากนั้นศิลปินปาไข่ดิบเข้าผนัง แล้วเคี้ยวดอกกุหลาบ

ศิลปะแบบ แอ็คชัน มีหลากรสชาติพอสมควร ตั้งแต่แนวเสียดเย้ยแบบฮาๆ (ในกรณีของ แมนโซนี) บ้างก็เป็นแนวผสมเซ็กซี่นิดๆ และยังมีดนตรีประกอบให้ฟัง (ในกรณีของแคลง ) และยังมีแนวโหดๆ แบบถึงเลือดถึงเนื้อแบบศิลปินในเวียนนา

ถือได้ว่าเป็นการสร้างรสชาติที่เข้มข้นและน่าตื่นเต้นให้แก่วงการศิลปะ และยังเป็นการพยายามผลักดันให้ศิลปะหลุดออกไปจากแค่ภาพที่สวยงาม และทำให้ศิลปะกลายเป็นเครื่องมือในการสื่อความคิด เป็นเสรีภาพที่พ้นไปจากกรอบของสังคม

ศิลปิน: โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys, 1921-1986), กันเตอร์ บรุส (Gunter Brus, 1938-), อีฟ แคลง (Yves Klein, 1928-1962), ปีเอโร แมนโซนี (Piero Manzoni, 1933-1963), ออตโต้ มูล (Otto Muhl), เฮอร์แมนน์ นิทสช์ (Hermann Nitsch, 1938-), อาร์นัลฟ์ เรย์เนอร์ (Arnulf Rainer, 1929-)

Abstract Expressionism
Appropriation